ข้อควรรู้กับการทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมไฟฟ้าให้ถูกวิธี กำจัดเชื้อโรคได้อย่างหมดจรด!

การทำความสะอาดเครื่องปั๊มนม

     เมื่อคุณแม่จะต้องใช้เครื่องปั๊มน้ำนมทั้งแบบที่ใช้ไฟฟ้าหรือจะเป็นที่ปั๊มแบบมือเป็นประจำ ซึ่งบางคนก็อาจจะแทบทุกวัน คุณแม่จะต้องรู้จักวิธีทำความสะอาดเครืองปั๊มน้ำนมเหล่านี้ให้ดี โดยเฉพาะส่วนของกรวยและที่เก็บ บางคนอาจคิดว่าทำความสะอาดดีแล้ว แต่เอาจริง ๆ ยังมีบางขั้นตอนที่ข้ามไป ส่งผลให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคตามมา กลายเป็นน้ำนมที่อันตรายต่อลูกน้อยในวัยทารกที่ร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ มีระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงมากพอ

     เมื่อปั๊มเอาน้ำนมออกมา ก็เสี่ยงที่จะเกิดการปนเปื้อนโดยไม่รู้ เพราะฉะนั้นทั้งคุณแม่มือใหม่ และที่เคยมีประสบการณ์เลี้ยงลูกมาแล้ว อยากมองหาเครื่องปั๊มนม ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหน จะมีคุณภาพดีแค่ไหน แต่ถ้าล้างทำความสะอาดไม่ดี ก็เสี่ยงที่จะเป็นแหล่งเติบโตของเชื้อโรค ใครไม่อยากให้ลูกน้อยเสี่ยงเจ็บป่วย เราลองมาทำความเข้าใจเรื่องการทำความสะอาดเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า

รู้จักกับส่วนประกอบของที่ปั๊มนมกันก่อน

     ในคู่มือของแต่ละยี่ห้อสำหรับเครื่องปั๊มน้ำนมไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้าหรือแบบมือ จะมีรายละเอียดระบุส่วนประกอบของเครื่องเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเราจะขอยกตัวอย่างเครื่องมาตรฐานที่คุณแม่นิยมใช้ เป็นสินค้าปั๊มเดี่ยว ที่จะใช้งานปั๊มทีละข้าง ส่วนประกอบหลักของเครื่องที่เป็นระบบไฟฟ้าจะประกอบไปด้วย ตัวเครื่องที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนสมองสั่งการ มีปุ่มสำหรับเปิด-ปิด ตั้งค่า และควบคุมความแรงและเร็วในการใช้งาน ส่วนต่อมาคืออะแดปเตอร์สำหรับแปลงไฟ ใช้งานโดยการเสียบเข้ากับไฟบ้านเพื่อให้ระบบทำงาน สามารถถอดเข้าออกได้ สายจะหุ้มด้วยสายยางแบบซิลิโคนอีกชั้น เพื่อป้องกันของเหลวไปสัมผัสโดนกระแสไฟจนเกิดอันตรายหรือเครื่องเสียหาย

     ส่วนอุปกรณ์หลักอื่น ๆ จะเป็นหัวใจหลัก หลังปั๊มน้ำนมเสร็จ จะต้องทำความสะอาด ไม่ทิ้งเอาไว้ข้ามคืน ซึ่งมีดังนี้่

    1. ฝาครอบกรวยที่ใช้ปั๊ม
    2. ลูกสูบซิลิโคน
    3. กรวยสำหรับปั๊มน้ำนม
    4. วาล์ววัสดุซิลิโคนป้องกันน้ำนมไหลย้อนกลับ
    5. ขวดนมสำหรับเก็บน้ำนมที่ได้จากการปั๊ม (ขนาดแตกต่างกันไป)
    6. ส่วนของฐานสำหรับวางขวดน้ำนม

วิธีดูแลรักษาที่ปั๊มนมแม่หลังใช้งานแล้ว

     เมื่อรู้จักอุปกรณ์คร่าว ๆ ของตัวเครื่องกันไปแล้ว สิ่งที่คุณแม่จะต้องรู้ต่อไปนี้่ก็คือ การทำความสะอาดสินค้าให้ถูกวิธี ซึ่งนั่นรวมถึงตัวแปลงที่เป็นไฟฟ้าด้วย โดยส่วนที่มีวงจรไฟฟ้าอยู่ด้านใน ให้ใช้ผ้าสะอาดมาชุบน้ำบิดหมาด แล้วเช็ดให้ทั่ว โดยเฉพาะส่วนที่อาจมีคราบน้ำนมหรือคราบสกปรกติดอยู่ จากนั้นก็ตั้งทิ้งไว้ให้แห้ง

     ในส่วนของวัสดุซิลิโคนที่เชื่อมต่อทำงานร่วมกับการปั๊มน้ำนม เมื่อปั้มเสร็จแล้ว แยกลูกสูบและวาล์วออกมาทำความสะอาดด้วยการแช่น้ำในอุณหภูมิปกติ แล้วถูอย่างเบามือ ค่อย ๆ ล้างจนคราบน้ำนมหลุดออกไปจนหมด แล้วแช่ลงไปในน้ำต้มที่เย็นแล้วอีกครั้ง ถูทำความสะอาดแบบเดิม

     สำหรับสายยางที่ต่อกับเครื่อง โดยมากไม่จำเป็นต้องล้างทำความสะอาด เพราะไม่ได้สัมผัสกับน้ำนมแม่โดยตรง แต่ถ้าหากมีน้ำนมไหลเข้าไป ให้ล้างด้วยการเทน้ำเข้าไปทำความสะอาด จากนั้นก็ปล่อยให้แห้ง ก่อนนำไปเก็บหรือใช้งานต่อ เมื่อทำความสะอาดทั้งหมดครบแล้ว ให้นำไปวางในที่ ๆ เตรียมไว้ โดยจะต้องเป็นพื้นที่สะอาด ไม่ร้อน หรือมีความชื้น หลีกเลี่ยงฝุ่นผง และต้องวางอยู่ในพื้นที่ ๆ มีอากาศถ่ายเทตากให้แห้งสนิทก่อนเก็บ เช่นเดียวกันกับที่ปั๊มด้วยมือ ก็ให้ทำความสะอาดแบบเดียวกันได้

การกำจัดเชื้อโรคที่อาจเกิดในที่ปั๊มนมไฟฟ้า

     ใช่ว่าการล้างทำความสะอาดที่ปั๊มมือหรือไฟฟ้าจะจบแค่ขั้นตอนที่กล่าวไปข้างต้นเท่านั้น เพราะเชื้อโรคยังคงหลงเหลืออยู่ได้ โดยที่ตาเรามองไม่เห็น การฆ่าเชื้อจึงเป็นขั้นตอนที่ไม่ควรมองข้ามมากที่สุด เพื่อให้อุปกรณ์สะอาดหมดจรด โดยนำเอาอุปกรณ์ที่ปั้มน้ำนมที่ผ่านการล้างแล้ว ในส่วนที่เป็นพลาสติกและซิลิโคนไป “นึ่ง” ด้วยเครื่องนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อนึ่งขวดนม ความร้อนจะกำจัดดเอาเชื้อโรคออกไปได้  หรือถ้าบ้านไหนไม่มีที่นึ่งไฟฟ้า สามารถนึ่งด้วยเตาแก๊สได้ โดยใช้หม้อนึ่งที่สะอาด รอให้น้ำเดือดแล้วนึ่งประมาณ 10-15 นาที แล้วเอาออกมาผึ้งให้แห้ง ส่วนบ้านไหนพอจะมีงบเหลือ เอาให้สะอาดแบบสุด ๆ ก็ให้ซื้อเครื่องอบสำหรับฆ่าเชื้อมาติดไว้ด้วยเลย ซึ่งจะใช้รังสี UV เป็นตัวช่วย สามารถทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคได้หลากหลายสายพันธุ์เลยทีเดียว

ข้อควรระมัดระวังการทำความสะอาดที่ปั๊มน้ำนม

     ไม่ว่าจะเป็นแบบบีบด้วยมือหรือระบบไฟฟ้า สิ่งที่ต้องพึงระมัดระวังอย่างมากก็คือการทำความสะอาดวาล์วและลูกสูบที่เป็นซิลิโคน ไม่ควรทำความสะอาดอย่างรุนแรง เพราะเสี่ยงที่ชิ้นส่วนจะเสียหาย เมื่ออุปกรณ์ทั้งสองมีปัญหา ก็เสี่ยงที่การทำงานจะถูกลดทอนประสิทธิภาพลง หลีกเลี่ยงการใช้แปรงทำความสะอาดจุกนมมาทำความสะอาดวาล์วและลูกสูบอย่างเด็ดขาด เพราะเสี่ยงที่จะเกิดการฉีกขาด

     เมื่อทุกขั้นตอนมั่นใจแล้วว่าเครื่องปั๊มนมไฟฟ้าสะอาดที่สุดดั่งใจแล้ว และพร้อมสำหรับการเก็บไว้เพื่อนำใช้งานในครั้งต่อไป ให้ทำการประกอบอุปกรณ์เข้าด้วยกัน แล้วนำไปเก็บเอาไว้ในกล่องหรือตู้เฉพาะที่สะอาด แห้ง และไม่มีความชื้นอยู่ในนั้น ทางที่ดีให้เก็บห่างจากความร้อนสูง ไม่ว่าจะเป็นแสงแดดหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีการแผ่กระจายความร้อนออกมา เพื่อป้องกันไม่ให้พลาสติกขยายตัว จนอุปกรณ์เสื่อมสภาพก่อนเวลานั่นเอง